“ลดลงหนึ่งสตอป” “โอเวอร์สองสตอป” “ชดเชยครึ่งสตอป” ฯลฯ และอะไรทำนองนี้คือสิ่งที่เรามักจะได้ยินจากปากของบรรดาเซียนถ่ายภาพทั้งหลายเค้าคุยกัน แล้วคำว่า “สตอป” นี่มันคืออะไร? หมายความว่าอย่างไร? และสำคัญจนเราต้องรู้ด้วยมั๊ย? …มาหาคำตอบกัน
อันดับแรกสุดเลย…เราคุ้นกับคำว่า “STOP” ด้วยเสียง “สต๊อป” ที่แปลว่าหยุด ซึ่งคำว่า “สตอป” ที่ออกเสียงว่า “สต่อบ” ก็คือคำๆ เดียวกันนี่แหละ “สต๊อป” นั้นเป็นการออกเสียงอย่างคนไทย ส่วน “สต่อบ” นั้นออกเสียงอย่างฝรั่ง…ไม่เชื่อลองสังเกตดู ดังนั้นมันจึงเป็นคำเดียวกัน มีความหมายเดียวกัน
เหตุที่มันคือคำๆ เดียวกันก็เพราะ ในสมัยอดีตกาลนานมาแล้ว มีเครื่องมือในการล้างอัดภาพถ่ายอย่างหนึ่งที่มีหน้าที่ในการ “หยุด” ปริมาณแสงที่จะลงสู่กระดาษอัดภาพ ลักษณะทรงกลมมีก้านที่เอาไว้ปิดบังแสงมีขนาดต่างกันไปเรียกว่า “Light Stop” และเมื่อเวลาผ่านไป มันก็เหลือเพียงคำสั้นๆ ว่า “Stop” นั่นเอง
คำว่า “สตอป” ยังคงมีการใช้งานกันมาจนถึงปัจจุบันโดยย้ายมามีอิทธิพลในขั้นตอนตั้งแต่การเปิดรับแสงของกล้องถ่ายภาพ โดยใช้คำว่า “สตอป” เพื่อเป็นหน่วยสำหรับบอกถึงระดับการเปิดรับแสง เช่นเดียวกับที่เราพูดว่า “ส้มสองผล” “รถห้าคัน” “หนังสือหนึ่งเล่ม” ฯลฯ อะไรประมาณนั้น…
สำหรับในการถ่ายภาพ เรารู้กันว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปิดรับแสงมีอยู่สามอย่างก็คือ “รูรับแสง”, “ความไวชัตเตอร์” และ “ค่า ISO” ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าภาพนั้นจะสว่างหรือมืดอย่างไรก็ด้วยการควบคุมทั้งสามปัจจัยนี้ที่จะเกี่ยวข้องกับปริมาณแสงนั่นเอง
หน่วย “สตอป” จะเข้าไปมีบทบาทกับทั้งสามปัจจัย ถ้าจะเรียกด้วยภาษาไทยก็คงจะใช้คำว่า “ขั้น” เช่นแทนที่จะพูดว่า “ชดเชยแสงสองสตอป” ก็เปลี่ยนเป็น “ชดเชยแสงสองขั้น” แต่แน่ละ…ย่อมไม่มีใครพูดกันแน่
ในปัจจัยทั้งสามนั้น ต่างก็มีระดับขั้นของตัวเองในการเพิ่มขึ้นหรือลดต่ำลงมาในระดับเท่าตัว เช่น จากความไวชัตเตอร์ 1/125 วินาที ไปเป็น 1/250 วินาที ก็คือสูงขึ้น “หนึ่งขั้น” หรือ “หนึ่งสตอป” หรือจาก ISO 100 ไปเป็น ISO 400 ก็คือสูงขึ้น “สองสตอป” (100>200>400 เพิ่มทีละเท่าตัว)
…หรือจากรูรับแสง F2.8 ไปเป็น F4 ก็คือลดปริมาณแสงลง “หนึ่งสตอป” นั่นเอง
เมื่อเจาะจงลงไปในแต่ละปัจจัย เราก็จะเรียกว่า “F-Stop” สำหรับรูรับแสง, “Shutter Stop” สำหรับสปีดชัตเตอร์ และ ISO Stop สำหรับค่าความไวแสง ISO
ตามมาตราฐานแล้ว แต่ละปัจจัยที่มีช่วงห่างกันหนึ่งเท่าหรือหนึ่งสตอปจะเป็นดังนี้ :
F-Stop (รูรับแสง)
F : [0.7]-[1.0]-[1.4]-[2]-[2.8]-[4]-[5.6]-[8]-[11]-[16]-[22]-[32]-[45]-[64]-[90]-[128]-[180]-[256]
Shutter Stop (ความไวชัตเตอร์)
Sec. : [1]-[1/2]-[1/4]-[1/8]-[1/15]-[1/30]-[1/60]-[1/125]-[1/250]-[1/500]-[1/1000]
ISO Stop
ISO: [25]-[50]-[100]-[200]-[400]-[800]-[1600]-[3200]-[6400]-[12800]
หลายคนอาจจะบอกว่าเคยเห็นตัวเลขของแต่ละปัจจัยที่ต่างออกไปจากนี้ …ถูกแล้ว เพราะมันมีการแบ่งทั้งแบบ 1/2 (หนึ่งส่วนสอง- ครึ่งสตอป), 1/3 (หนึ่งส่วนสาม) และ 1/4 (หนึ่งส่วนสี่) มาให้ใช้งานกันอีกด้วย เอาแบบแบ่งกันละเอียดยิบไปเลย
ตัวอย่างเช่นค่าของรูรับแสงที่แบ่งขั้นแบบ 1/3 จะเป็นแบบนี้
F : [0.7]-[0.8]-[0.9]-[1.0]-[1.1]-[1.2]-[1.4]-[1.6]-[1.8]-[2]-[2.2]-[2.5]-[2.8]-[3.2]-[3.5]-[4]-[4.5]-[5.0]-[5.6] …
ซึ่งความไวชัตเตอร์และ ISO ก็มีการแบ่งละเอียดลงไปนี้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงมีความไวชัตเตอร์ 1/100 sec. ให้ใช้งาน แทนที่จะมีแค่ 1/60 หรือ 1/125 เท่านั้น
นี่แหละคือสิ่งที่บรรดาเซียนทั้งหลายเขาพูดถึงกัน ภาพนี้เปิดรับแสงมาเท่านี้ “ถ้าลดรูรับแสงลงอีกซักสตอปสองสตอปก็น่าจะโอเคกว่านี้นะ” ทีนี้เราก็เข้าใจละว่าไอ่เจ้าสตอปที่เขาพูดถึงกันน่ะมันคืออะไร?
…ความหมายของ “สตอป” หรือ “ขั้น” ในการเปิดรับแสงก็เอวังด้วยประการฉะนี้.
Comments