“เทากลาง 18%” เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้กันมาแล้ว จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตามที แต่มันเป็นสิ่งที่ผู้อยากจะเป็นเซียนหรือผู้ที่อยากจะถ่ายภาพให้ได้ดีควรต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้พาตัวเองหลุดพ้นมาจากคำว่า “อะไรวะ?” ซะที…มาเถอะ มาค้นหาคำตอบกันซะดีๆ นะพี่น้อง
อุปกรณ์บันทึกภาพส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคย มีหน้าที่ในการเก็บบันทึกแสงเป็นสำคัญ ซึ่งไอ้เจ้า “แสง” นี่แหละคือเหตุตั้งต้นของภาพถ่ายทั้งมวล แสงมากไปภาพก็สว่างจ้า แสงน้อยไปภาพก็มืดซะจนเซ็ง ส่วนแสงที่พอดีก็ไม่มีสูตรตายตัว เพราะไม่ใช่ว่าภาพสวยทุกภาพต้องมีแสงพอดีกันไปซะหมด บางภาพก็ต้องมืดหน่อยถึงจะสวย บางภาพก็ต้องสว่างนิดถึงจะงาม
เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “ระบบวัดแสง” ของกล้องที่จะทำการวัดปริมาณแสงที่มันมองเห็นแล้วนำไปคำนวณว่าควรจะปรับตั้งค่าการเปิดรับแสงเท่าไหร่ถึงจะดี อุปกรณ์ตัวนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญระดับคอขาดบาดตาย เพราะถ้าไม่มีมันแล้วละก็ คนถ่ายภาพก็ต้องลุยถั่วตั้งค่าการเปิดรับแสงเอาเอง ไม่มีทางรู้ว่าแสงข้างหน้าตอนนี้มันควรจะเปิดรับแสงสักขนาดไหนดี?
ระบบวัดแสงจะทำการเปรียบเทียบปริมาณแสงที่วิ่งผ่านเลนส์เข้ามาว่า ปริมาณแสงที่มันได้รับในขณะนี้เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับค่าการเปิดรับแสงในปัจจุบันแล้วเป็นอย่างไร จะทำให้ภาพมืดไปหรือสว่างไปหรือไม่? แล้วมันก็จะส่งค่าการคำนวณที่ได้ไปให้หน่วยประมวลผลกลางเพื่อรายงานว่าควรจะปรับเพิ่มลดปัจจัยการเปิดรับแสงอย่างไร
ถ้าขณะนั้น อยู่ในโหมดอัตโนมัติเต็มขั้น มันก็จะปรับทั้งค่ารูรับแสง, ความไวชัตเตอร์ และค่า ISO ให้เสร็จสรรพ (กล้องรุ่นใหม่ๆ) แต่ถ้าอยู่ในโหมดกึ่งอัตโนมัติอย่างโหมด S, Tv, A, Av ระบบก็จะสั่งปรับค่าหนึ่งค่าที่มันสามารถปรับได้ด้วยตัวมันเองโดยหน้าที่ เช่นถ้าอยู่ในโหมด Av ที่ผู้ใช้งานเลือกขนาดรูรับแสง ระบบของกล้องก็จะทำการปรับความไวชัตเตอร์ที่เหมาะสมตามปริมาณแสงที่มันคำนวณได้
และถ้าอยู่ในโหมด M มันก็จะไม่ทำอะไร นอกจากส่งสัญญาณไปบอกผู้ใช้ผ่าน Indicator วัดแสงว่า ตอนนี้ค่าที่เอ็งเลือกใช้งานอยู่น่ะ มันจะทำให้ภาพสว่าง/มืดนะ ไม่เชื่อก็ตามใจ…ซึ่งผู้ถ่ายภาพก็มีหน้าที่ต้องเลือกตัดสินใจว่าจะปรับอะไรหรือไม่?
…แล้วกล้องมันรู้ได้ไงว่านี่มืดหรือสว่าง?
คำตอบก็คือ กล้องจะนำปริมาณแสงที่ได้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าสีเทากลาง 18% ซึ่งเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ติดตั้งมาจากโรงงานและเป็นมาตรฐานสำหรับการผลิตกล้องถ่ายภาพ ปริมาณแสงที่วิ่งผ่านเลนส์เข้ามาเมื่อคำนวณกับค่าปัจจัยการเปิดรับแสงแล้ว มันก็จะเปรียบเทียบจากค่าเทากลาง 18% ทันทีว่าจะทำให้แสงที่สะท้อนเข้ามาหามันนั้นกลายเป็นภาพที่มืดหรือสว่างอย่างไร?
แน่นอนว่าโดยพื้นฐานของระบบแล้ว จะพยายามทำให้ปริมาณแสงนั้นเข้ามาใกล้เคียงกับค่าเทากลาง 18% มากที่สุด ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ได้ภาพสวยเสมอไป ก็อย่างที่บอกว่าบางภาพต้องมืดถึงจะสวย บางภาพต้องสว่างถึงจะดี…แต่เครื่องมือก็ยังเป็นเครื่องมือ มันย่อมจะต้องทำหน้าที่ของมันโดยเถรตรงยังงั้นแหละ คนถ่ายภาพมีหน้าที่ตัดสินใจเอาเอง
การถ่ายภาพย่อมขึ้นกับสภาพและปริมาณแสงเป็นสำคัญ แสงที่สะท้อนมาจากวัตถุคือตัวตัดสินว่าภาพจะออกมาเป็นเช่นไร ซึ่งถ้าเป็นสภาพแสงธรรมชาติที่มันย่อมจะไม่เท่ากันตลอดเวลา การสะท้อนแสงของวัตถุก็ย่อมจะไม่เท่ากันไปด้วย เช่นภาพนี้ถ่ายเมื่อวานตอนแดดจัดจ้า ใช้ค่าเท่านี้จึงจะเหมาะสม แต่วันนี้ท้องฟ้าครึ้ม แสงน้อยกว่าเมื่อวาน ถ่ายภาพด้วยค่าเดิมเดียวกันที่เคยให้ภาพดี ภาพก็ต้องออกมามืดตื๋อเพราะแสงน้อยกว่าเมื่อวานแน่อยู่แล้ว…นี่คือความสำคัญของปริมาณแสงที่สะท้อนจากวัตถุ
ดังนั้นถ้าคุณเห็นภาพของมืออาชีพและรู้ค่าการเปิดรับแสงของเขา คุณก็จัดการไปยังสถานที่นั้นแล้วถ่ายภาพด้วยค่าการเปิดรับแสงเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้ภาพที่เหมือนของเขามาเป๊ะๆ เสมอไป…เพราะปริมาณแสงมันอาจจะไม่เท่ากันก็ได้
ดังนั้นระบบการวัดแสงของกล้องจึงสำคัญมาก เพราะมันจะบอกให้เรารู้ได้ว่าแสงในขณะนั้นๆ มีปริมาณเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับค่าการเปิดรับแสง และมันจะสามารถบอกค่าปริมาณแสงได้ดีที่สุดเมื่อมันได้เห็นการสะท้อนกลับของแสงจากวัตถุที่มีค่าเทากลาง 18% เหมือนกัน อันนั้นมันจะสามารถทำได้เป๊ะๆ เลยทีเดียว
…แต่ก็ต้องดูระบบวัดแสงด้วยว่าระบบแบบไหนถูกใช้งานอยู่? กินพื้นที่มากน้อยแค่ไหน?
จึงมีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ นั่นก็คือ “การ์ดเทากลาง 18%” เพื่อใช้สำหรับการวัดแสง พูดง่ายๆ ก็คือเอาไว้ให้กล้องมันดูว่าปริมาณแสงในขณะนี้เมื่อโดนสะท้อนจากเทากลาง 18% แล้วเป็นยังไง ควรจะเปิดรับแสงประมาณไหนดี? นั่นแหละคือสิ่งที่จะช่วยให้การวัดแสงเป็นไปอย่างแม่นยำที่สุด ก็เลยมีอุปกรณ์ชิ้นนี้ติดกระเป๋ากล้องของมือเซียนกันเป็นแถวๆ เพื่อความแม่นยำในการวัดแสงนั่นเอง
ดูตัวอย่างได้ที่ petapixel.com
ในสภาพทั่วไปเราก็สามารถหาสิ่งที่ใกล้เคียงกับค่าเทากลาง 18% เพื่อใช้สำหรับวัดแสงได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเสื้อสีเทา (ที่ไม่เข้มมาก) ท้องฟ้าสีน้ำเงิน หรือใบไม้สีเขียว แต่ที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดก็คือ “ถนนราดยาง” ที่สีออกเทาๆ นั่นละใช้มันเป็นแหล่งวัดแสงได้เลย
แล้วท้องฟ้าสีน้ำเงินหรือใบไม้สีเขียวมันเทากลางตรงไหน? ขอบอกว่าระบบวัดแสงของกล้องมองทุกสิ่งทุกอย่างแบบ “ไม่มีสี” เมื่อถอดข้อมูลสีออกไปแล้วก็จะเหลือแต่ระดับสีดำไปหาสีขาวโดยมีการไล่ระดับสีเทาอยู่ระหว่างนั้น ก็คือมันมองเป็นภาพขาว/ดำโดยไม่สนใจสีนั่นเอง ซึ่งสองอย่างที่ว่ามานั้นเมื่อไม่มีสีเสียแล้วก็จะมีระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเทากลาง 18% ซึ่งก็จะมีสีอีกหลายสีที่เมื่อถอดออกไปแล้วก็ใช้งานได้ แต่อาจจะต้องชดเชยแสงอยู่สักหน่อย จะกี่สตอปก็ว่ากันไป
…แล้วทำไมต้อง 18% ทำไมไม่เป็นกลางที่ 50%?…ก็ เพราะมันไม่ใช่การแบ่งตามค่าตัวเลข แต่มันคือค่าจากการวิเคราะห์ลักษณะการสะท้อนแสงของวัตถุเชิงกายภาพ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า การสะท้อนแสงของวัตถุที่ระดับ 18% นั้นให้ค่าเป็นกลางมากที่สุด ตั้งแต่นั้นมาค่าเทากลาง 18% ก็เลยกลายเป็นค่ามาตรฐานไปเลย
ทั้งหมดนี้คือความหมายของ “เทากลาง 18%” ในโลกของการถ่ายภาพ” ที่บอกแล้วว่าควรต้องทำความเข้าใจมันให้ดี เพื่อที่เราจะได้เข้าใจเรื่องของการวัดแสงที่ถือว่าเป็นหัวใจอีกดวงหนึ่งของการถ่ายภาพเลยทีเดียว.
Comments